พบครั้งแรกในไทย’มวนตัวห้ำC.exiguus’ ช่วยเกษตรกรกำจัดเพลี้ยไฟ-ลดใช้สารเคมี

พบครั้งแรกในไทย’มวนตัวห้ำC.exiguus’ ช่วยเกษตรกรกำจัดเพลี้ยไฟ-ลดใช้สารเคมี
27/06/2019 admin

หนังสือพิมพ์แนวหน้า — พฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2562 00:00:00 น.
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร มีผลงานวิจัยด้านควบคุมกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี ซึ่งถือเป็นวิธีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอีกหนึ่งทางเลือกช่วยลดระดับความเสียหายจากศัตรูพืช และควบคุมประชากรแมลงศัตรูพืชไม่ให้สูงจนก่อความเสียหายต่อพืชได้ รวมทั้งลดปัญหาตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเป็นวิธีที่ได้ใช้ศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์

ในประเทศไทยมีศัตรูพืชประเภทปากดูดสำคัญ สร้างความเสียหายให้ผลผลิตการเกษตร ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ไรแดง และไรขาว เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด ซึ่งลดประชากรแมลงศัตรูพืชได้ชั่วคราวเท่านั้น  เนื่องจากศัตรูพืชกลุ่มนี้มีขนาดเล็ก วงชีวิตสั้น ปรับตัวสร้างความต้านทานสารเคมีได้เร็ว ก่อให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างเป็นอันตรายต่อผู้ใช้โดยสารพิษเข้าไปสะสมในร่างกาย และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจากสารพิษตกค้าง

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวต่อว่า สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตรสำรวจพบแมลงศัตรูธรรมชาติสำคัญ พบครั้งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติดังกล่าวเป็นมวนตัวห้ำชนิด  Cardiastethus exiguus Poppius  พบที่แปลงมันสำปะหลังใน จ.กาญจนบุรี   โดยมวนตัวห้ำชนิดนี้ชอบกินเพลี้ยไฟมากที่สุด ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีมวนตัวห้ำที่กินเพลี้ยไฟได้ รวมทั้งยังชอบกินแมลงศัตรูพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาวิจัยทำให้ได้ข้อมูลมวนตัวห้ำ C.exiguus ด้านชีววิทยา การเพาะเลี้ยง โดยพบว่าเป็นมวนตัวห้ำที่มีศักยภาพดีในการควบคุมแมลงและไรศัตรูพืชที่สำคัญ เช่น เพลี้ยไฟฝ้าย ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาระบาดรุนแรงในพืชเศรษฐกิจ และมีรายงานต้านทานสารฆ่าแมลง ยากป้องกันกำจัด ที่สำคัญค้นพบวิธีเพาะเลี้ยงมวนตัวห้ำ C.exiguus  ที่ง่าย สะดวก ประหยัดได้สำเร็จ รวมทั้งเป็นไปได้ในการเพาะเลี้ยงขยายในปริมาณมาก หรือต่อยอดการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้

“ปัญหาสำคัญขณะนี้คือ เพลี้ยไฟมีความต้านทานสารฆ่าแมลง  ดังนั้น การค้นพบมวนตัวห้ำชนิดใหม่นี้แม้ไม่ได้ทำให้เพลี้ยไฟหมดไปจากประเทศไทย แต่ป้องกันไม่ให้ แพร่ระบาดได้ ที่สำคัญการควบคุมโดยชีววิธีคือ ลดใช้สารเคมีฆ่าแมลง ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และเป็นวิธีกำจัดศัตรูพืชที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค รวมทั้ง สิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยข้อมูลของมวนตัวห้ำชนิดใหม่นี้ จึงลดใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน  ผลงานวิจัยดังกล่าวยังได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2561 ของกรมวิชาการเกษตร ด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

Comments (0)

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*