20 มี.ค. 66 – เกษตรชล นำทีมเขตลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมเยียนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่อำเภอเมืองชลบุรี

20 มี.ค. 66 – เกษตรชล นำทีมเขตลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมเยียนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่อำเภอเมืองชลบุรี
28/03/2023 mainadmin

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 นายบุญลือ คงสูงเนิน เกษตรจังหวัดชลบุรี นำทีมนิเทศเขต โดย นางอมรรัตน์ ลิมป์สุคนธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ ฯ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ลงพื้นที่อำเภอเมืองชลบุรี ติดตามการดำเนินงานการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ได้เยี่ยมชมฟิกส์สวนขวัญ สวนมะเดื่อฝรั่ง ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ของนางขวัญใจ เขียมศิริ ซึ่งเป็นสวนปลูกมะเดื่อฝรั่งหรือที่เราเรียกกันว่า Fig (ฟิกส์) ผลไม้เพื่อสุขภาพ ทางเลือกใหม่ของคนรักสุขภาพ ซึ่งคุณขวัญใจเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการปลูกมะเดื่อฝรั่งได้เริ่มมาจากที่ตนรักและอยากทำ ได้ลองผิดลองถูก ในช่วงแรกปลูกเพียง 3 โรงเรือน และค่อยๆ ขยายเรื่อยมาจนปัจจุบัน มีทั้งหมด 15 โรงเรือน ซึ่งในช่วงพีคๆ สามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 30 กิโลกรัมต่อวัน โรคและแมลงที่พบค่อนข้างน้อยหากมีการจัดการแปลงที่ดีและดูแลเขาดีๆ ก็สร้างความเสียหายได้น้อย และตอนนี้ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดสายสุขภาพ ซึ่งลูกค้าของคุณขวัญใจส่วนใหญ่คือคนไทย และชาวต่างชาติที่รักในผลไม้ชนิดนี้ แต่คุณขวัญใจก็ย้ำว่าหากใครที่ต้องการจะปลูก ต้องใช้ทั้งความใส่ใจ การดูแลต้นต่อต้น และมีเวลาให้เขา เพราะมะเดื่อฝรั่งทุกลูกที่คุณขวัญใจปลูก ได้คัดสรรพร้อมทั้งทำความสะอาดอย่างดีด้วยตัวเองเพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งนอกจากจะขายผลสดแล้วทางฟิกส์สวนขวัญ ยังนำฟิกส์หรือมะเดื่อฝรั่งนี้มาแปรรูปเป็นแยม เจลลี่ ฟิกส์อบแห้ง และได้รับการกันรันตีโดยมาตรฐานสินค้า อย.

 

พร้อมนี้ ยังลงติดตาม เยี่ยมเยียนการดำเนินงานของนายสุทธิพงษ์ อินต๊ะวงค์ YSF Chonburi ณ ศูนย์เรียนรู้บ้านเห็ดขอนสุทธิพงษ์ ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการผลิตเห็ดครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ในการดำเนินงาน เช่นเครื่องอัดก้อนเห็ดและเครื่องม้วนก้อนเห็ด สามารถช่วยลดทั้งในเรื่องของแรงงานคน ต้นทุนการผลิต และย่นระยะเวลาการดำเนินงาน ซึ่งคุณสุทธิพงษ์กล่าวว่าแต่ก่อนแรงงาน 1 คน สามารถผลิตก้อนเห็ดได้ประมาณ 160 ก้อน ต่อชั่วโมง แต่เครื่องนี้สามารถผลิตก้อนเห็ดได้ถึง 600 ก้อนต่อชั่วโมง และในสมัยก่อนต้องจ้างคนถึง 5-6 เพื่อผลิตให้ได้ 3000 ก้อนต่อวัน และต้องใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันใช้เพียงแรงงานในครัวเรือน 1-3 คน และใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง ก็สามารถผลิตก้อนเห็ดได้ 3000 ก้อน ซึ่งตั้งแต่ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ชีวิตของคุณสุทธิพงษ์ก็สามารถใช้เวลาที่เหลือไปทำประโยชน์อย่างอื่น

 

การดำเนินกิจกรรมเกษตรที่เข้มแข็งของเกษตรกร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถปรับเปลี่ยนและปรับตัวไปกับสังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบันคือเป้าหมายสูงสุดที่สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรีวางไว้ ซึ่งเราได้เห็นแบบอย่างของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการแปลงที่สามารถพึงพาตนเองได้ดังตัวอย่างคุณขวัญใจ เขียมศิริ และคุณสุทธิพงษ์ อินต๊ะวงค์ เกษตรกรต้นแบบของจังหวัดชลบุรี และสำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรีหวังว่าจะสามารถขยายผลสำเร็จเหล่านี้สู่พี่น้องเกษตรกรและผู้ที่สนใจด้านการเกษตรต่อไปได้ในอนาคต

 

Comments (0)

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*